เชือกเส้นแรก


 เชือกเส้นแรก

         .........วันนึง...ขณะนั่งมองเรือที่ถูกผูกโยงจอดเรียงรายอยู่ท่าน้ำ ต่างโยกคลอนไปตามแรงคลื่นที่กระทบเข้ามาเสียดสีกันดังอี้ดอ๊าด ปลายเชือกที่ผูกโยงด้วยเงื่อนปมที่ผมก็ไม่เข้าใจแต่รู้เพียงว่าแม้คลื่นจะแรงสักเพียงใดเรือเหล่านั้นก็ไม้อาจหลุดพ้นพันธนาการไปได้แต่  กลับดูเหมือนจะถูกรัดตรึงให้แน่นหนา  มากกว่าเดิม.....ก็แค่เชือกเส้นเล็กๆที่ควั่นขอดกลายเป็นสายโยขนาดพอเหมาะทำไมมันจึงสามารถเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้
                      การเข้าใจตัวเองเกิดขึ้นได้ทั้งจาก การเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้ผู้รู้ชี้นำว่าตัวเราเป็นอะไรอันนี้เรียกวิเคราะห์พฤติกรรม หรือ "รูปแบบความน่าจะเป็น" กับอีกแบบ คือการเข้าใจและตีความสิ่งที่อยู่ข้างหน้าจากการทำซ้ำๆเพื่อไปสู่แนวคิดของตนเองอย่างอิสระด้วยภูมิหลัง ประสบการณ์ และทักษะชีวิต เช่นเดียวกับผู้นำจิตวิญญาน และ นักวิทยาศาสตร์ของโลก พวกเค้าจะถูกปฏิเสธในก้าวแรกเสมอ ผมเรียก "การหยั่งรู้"
                (สหัสชญาณ : intuition  คือ การหยั่งรู้ การเข้าใจ การมองเห็นความสัมพันธ์อันเป็นความรู้ใหม่ และสามารถใช้ความรู้เดิมมาให้เหตุผลสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ได้ โดยยังไม่เคยได้รับการบอกเล่าเหตุผลนั้นจากใครมาก่อน)
                  วันที่ผมหยิบเชือกเส้นแรกขึ้นมาแล้วถักร้อยไปมาตามรูปแบบเมื่อ2ปีก่อนเพียงเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่มือหลังจากประสบอุบัติเหตุตามคำแนะนำของหมอกายภาพ...ผมเกิดความคิดว่าสิ่งนี้อาจซ่อนงำหลักการของความสัมพันธ์บางอย่างที่เราลืมสังเกต..อาจเป็นของขวัญจากใครสักคนที่ส่งมาถูกที่ถูกเวลา....ผมจึงเริ่มเดินหน้าค้นหา
 ..........มนุษย์เรารู้จักการผูกโยงยึดตรึงสิ่งของไว้ด้วยเชือกมาแต่โบราณ ด้วยคุณสมบัติที่อ่อนโอนยืดหยุ่นกลายเป็นจุดแข็งที่สมบูรณ์แบบ เชือกอยู่กับชีวิตประจำวันจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อ พิธีกรรม และเครื่องลางในหลายลัทธิ  เชือกเป็นอาวุธที่ซ่อนงำความร้ายกาจหากอยู่ในมือของผู้ฝึกฝน แต่ก็เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือชีวิต และ เชือกยังกลายเป็นส่วนหนึ่งขอความน่าฉงนของกลมายาที่ต้องหาคำตอบ  และความสวยงามของเครื่องประดับ
........ ด้วยความโอนอ่อนยืดหยุ่นของเชือกสามารถสะท้อนคติความคิดเชิงเปรียบเทียบกับอยู่ร่วมกันในสังคม  เมื่อเติมความคิดในการใช้เชือกให้เป็นประโยชน์ด้วยการผูกเป็น”เงื่อน” ที่มีหลายสิบเงื่อนแล้วแต่ละเงื่อนก็ถูกนำมาใช้ได้แตกต่างกัน   “ถ้าเชือกคือความเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่ได้มาแต่กำเนิด  เงื่อนเชือกก็คือคุณสมบัติความสามารถที่ถูกเติมเสริมแต่ง”  เมื่อเชือกธรรมดาๆ1 เส้นถูกผูกด้วยเงื่อนกลายเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่า คนเราก็แตกต่างกันด้วยสิ่งที่ใส่ลงไปทั้งความคิดและความสามารถ .........ด้วยหลักคิด 3 ประการของการผูก”เงื่อน” คือ ผู้เร็ว ผูกแน่น และ ปลดเร็ว ทำให้ฉุกคิดได้ว่าทักษะชีวิตก็ไม่ต่างกันมากนัก
         
  การผูกเร็ว   เปรียบกับ  ทักษะในการตัดสินใจหรือการปฏิบัติต่อสิ่งใดที่สามารถทำได้เลยโดยไม่ลังเล    การผูกแน่น   เปรียบกับ  ความเชี่ยวชาญในการทำสิ่งใดให้มีผลความสำเร็จสูง
 การปลดเร็ว   เปรียบกับ  ความคิดในการการวางแผนก่อนกระทำและรู้จักการแก้ไขปัญหา


.......เชือกเส้นเดียว แม้จะเต็มไปด้วยอรรถประโยชน์มากมายเพียงใด แต่เชือกเพียงหนึ่งเส้นก็มีข้อจำกัดของตนเองเสมอ เชือกมีความยาวเท่าที่ปลายข้างหนึ่งจะถูกแยกออกจากปลายอีกข้าง แต่อย่างไรเชือกเป็นสิ่งที่ยอมรับการเชื่อมต่อปลายแต่ละด้านได้ด้วยเชือกอีกเส้นแม้เชือกเส้นนั้นจะแตกต่างกันด้วยขนาดสักเพียงใดอยู่ที่รูปแบบของการผูกรัด ......หัวใจคนก็เช่นกัน




.







1 ความคิดเห็น: